ตามรอยพ่อ..7 โครงการที่ฉันเคยไป

สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
เหมือนสิ่งที่ พ่อ ได้ทำ ได้สร้างไว้ให้พวกเรา
มีโครงการมากมายที่เกิดขึ้นตามพระราชดำริ ของ “พ่อ”
ทุกที่ล้วนพลิกฟื้นให้พวกเรา กินดี อยู่ดี ลดปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากภัยธรรมชาติ การว่างงาน รวมถึงความขัดแย้งของคนในชุมชน
——–
นุ้ยกับต้น ….. เคยเดินทางไปยังโครงการต่างๆ หลายโครงการ
นอกจากสถานที่เหล่านั้นจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นสถานที่ให้อาชีพของชุมชน แล้วแต่สถานที่เหล่านั้นยังเป็นกำลังใจ และแรงผลักดัน เรา 2 คนได้เป็นอย่างดี

 

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอ คือ พื้นที่ทั้งหมดของอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ พื้นที่บางส่วนของอำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของอำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 600,000 คน อดีตขอบลุ่มน้ำแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก มีการทำนามากที่สุดโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักกันของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในนาม “เมืองแห่งอู่ข้าวอู่น้ำ”

เมื่อเวลาผ่านไป “ลุ่มน้ำปากพนัง” ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เคยดูดซับไว้แล้วทยอยปล่อยลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วย  น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือนเท่านั้น และเนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนังมีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร  นอกจากนี้  ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนังยังมี “พรุควนเคร็ง” ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 200,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีสารไพไรท์อยู่ในชั้นดิน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และมีปัญหาน้ำเปรี้ยว ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้ รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งได้ไหลลงในลำน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย  ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมีปริมาณฝนตกมาก แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน มีความลาดชันน้อย อุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ยาก จึงทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง

น้ำจืดขาดแคลน-น้ำเค็ม-น้ำเปรี้ยวและน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญ การทำนาไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีต

พระราชดำริ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่ววยเหลือราษฎรหลายครั้ง

          – ครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2531 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน

          – ครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม 2535 ณ สถานีสูบน้ำโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และสถานีสูบน้ำบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำจืด พร้อมกับการก่อสร้างระบบคลองระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และระบบกระจายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

          – ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้พระราชทาน พระราชดำริเพิ่มเติมความว่า …ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร… แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง หากแต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และแยกออกมาเป็นโครงการฯ…

แนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ

 สรุปได้ดังนี้

  1. เร่งดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพราะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นงานหลักในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค
  2. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำกินขอบราษฏร ควรดำเนินการดังนี้

2.1 ขุดคลองระบายน้ำฉุกเฉินพร้อมก่อสร้างอาคารควบคุมปากคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำปากพนังออกทะเลที่กรณีเกิดอุทกภัย

2.2 ขุดขยายคลองท่าพญาพร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำริมทะเลเพื่อระบายน้ำออกอีกทางหนึ่ง

2.3 ขุดลอกคลองบ้านกลาง คลองปากพนัง คลองหน้าโกฏิ พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำเสือร้อง(ก่อสร้างบริเวณบ้านเสือหึง) และประตูระบายน้ำหน้าโกฏิ เพื่อระบายน้ำลงทะเลให้เร็วขึ้น

2.4 ขุดคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่โครงการฯ ลงสู่ทะเลกรณีเกิดอุทกภัย

  1. กำหนดแนวเขตให้ชัดเจนและเหมาะสมเพื่อแยกพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่น้ำเค็มออกจากกันให้แน่นอน โดยกำหนดให้ทิศตะวันออกของคลองปากพนัง(คลองหัวไทร) เป็นพื้นที่น้ำเค็ม โดยมอบให้กรมประมงก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จัดระบบชลประทานน้ำเค็ม ทั้งนี้ให้กรมชลประทาน กรมประมง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแนวเขตให้เหมาะสมที่สุด
  2. พื้นที่ทางทิศตะวันตกของลุ่มน้ำปากพนังเป็นเทือกเขาสูง ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือฝายทดน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเพื่อการอุปโภคบิโภค และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://www.rid.go.th/royalproject)


 

 

 

 

 

 

 

 

——————

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขางได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล และพืชเครื่องดื่มเมืองหนาวเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านหัตถกรรม จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน  16,577  ไร่ (26.525 ตร.ม.) ครอบคลุมพื้นที่ส่งเสริมหลัก 5 หมู่บ้าน  ได้แก่ บ้านนอแล บ้านขอบด้ง บ้านปางม้า บ้านคุ้ม และบ้านหลวง

สถานที่ตั้งศูนย์    เขตหมู่บ้านคุ้ม หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ  ลักษณะเป็นรูปแอ่งกระทะ สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าสนและป่าดิบ ดินอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตร แม่น้ำที่สำคัญมีทั้งหมด 4 สาย คือ ห้วยแห้ง ห้วยซ่าน ห้วยอ่างขาง  และห้วยแม่เผอะ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตร ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินชุดบ้านหลวง (Ban Luang Series) ดินร่วนเหนียว ดินชุดอ่างขาง (Angkhang Series) เป็นดินที่เกิดจากหินปูน หินเชลล์ ดินดาน สภาพของดินโดยรวมมีโครงสร้างดินดี พื้นที่มีความลาดชันสูงสภาพค่อนข้างเป็นกรด (pH 4.5-6.0) ขอบเขตพื้นที่รับผิดชอบ 26.525 ตร.ม. (16,577 ไร่)

ภูมิอากาศ อยู่ในเขตอากาศร้อนชื้นเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 24.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด  13.0 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 18.5 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 181.6 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนรวมตลอดทั้งเดือนมากสุดเดือน ก.ย. 48 (767.30 มิลลิเมตร) ปริมาณน้ำฝนรวมตลอดทั้งเดือนต่ำสุดเดือน ม.ค. 48, ก.พ. 48 (0.00 มิลลิเมตร) ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 87.1 (รายงานสรุปข้อมูลตรวจวัดอากาศ ประจำปี  2548)

หมูบ้านและประชากร มีจำนวน 6  หมู่บ้าน  คือ  บ้านหลวง, บ้านคุ้ม, บ้านปางม้า, บ้านนอแล, บ้านขอบด้ง  และบ้านป่าคา   ประชากร  จำนวน  3,929  คน  703 ครอบครัว  ประกอบด้วย เผ่าปะหล่อง, มูเซอดำ, ไทใหญ่  และจีนยูนาน  ศาสนา พุทธ, คริสต์เป็นส่วนใหญ่  และนับถือผีบางส่วน

การเดินทาง สามารถเดินทางขึ้นดอยอ่างขางได้ทั้งหมด 3 เส้นทาง แต่เส้นทางที่ใช้เป็นหลัก มีอยู่เส้นทางเดียวคือ ขึ้นดอยอ่างข่างที่กิโลเมตรที่ 137 ณ วัดหาดสำราญ

การเดินทางโดยรถยนต์

การเดินทางโดยรถยนต์สามารถเดินทางไปได้หลาย 3 เส้นทาง ดังนี้

    ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงช้น
    ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน
    เส้นทางจากอำเภอฝาง-หมู่บ้านนอแล มีระยะทางสั้นที่สุด แต่มีความลาดชัดมากและไหล่ทางชำรุด เป็นหลุมบ่อ พื้นถนนเป็นหินกรวด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลียบแนวชายแดนไทย-พม่า ตลอดทางจะมีด่านทหาร และพบเห็นทั้งค่ายทหารของไทย และพม่า บริเวณสองริมฝั่งหุบเขา ไม่แนะนำให้ไปโดยเด็ดขาด

การเดินทางโดยรถประจำทาง

    เดินทางจาก จังหวัดเชียงใหม่ – ดอยอ่างขาง สามารถโดยสารรถประจำทางสายเชียงใหม่-ฝาง หรือ เชียงใหม่-ท่าตอน มาลงที่ปากทางดอยอ่างขาง หน้าวัดหาดสำราญ กิโลเมตรที่ 137 จากนั้นใช้บริการรถสองแถว รถตู้ หรือรถมอเตอร์ไซด์ขึ้นดอยอ่างขางอีกครั้งหนึ่ง หรือเดินทางด้วยรถตู้ประจำทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปยังอ่างขาง ได้เช่นกัน
    เดินทางจาก จังหวัดเชียงราย – ดอยอ่างขาง สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทาง เชียงราย – ดอยอ่างขางได้เช่นกัน

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

————————-

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับก่อสร้างศูนย์ฯ ตีนตก ด้วยจำนวนเงิน 300,000 บาท เพื่อจัดตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนา สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริมให้ราษฎรในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง พื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 34.65 ตร.ม. (21,656 ไร่) เป็นพื้นที่ของศูนย์ฯ 52.1 ไร่

สถานที่ตั้ง ตำบลห้วยแก้ว  อำเภอแม่ออน  จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ เป็นภูเขาที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ
     750 – 1,200 เมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วมปนทราย มีค่า pH ที่ 5.5อยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ

ภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 15  องศาเซลเซียส  อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 35 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,680  มิลลิเมตรต่อปี

 

หมู่บ้านและประชากร ประกอบด้วยคนพื้นเมือง ทั้งหมด 1,275 คน คิดเป็น 339 ครัวเรือน ในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน  19  หย่อมบ้าน

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 55  กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้เส้นทาง เชียงใหม่-สันกำแพง-แม่ออน ผ่านน้ำพุร้อนสันกำแพงไปทางบ้านแม่กำปอง ศูนย์ตีนตกจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงบ้านแม่กำปอง  สภาพเส้นทางเป็นถนนลาดยางตลอดสายจนถึงที่ทำการศูนย์

วัตถุประสงค์ 

1  เพื่ออบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม (อย่างน้อยให้มีรายได้พอกิน)
2  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข ความเข้มแข็งของชุมชน
3  เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4  เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ

 

งานทดสอบและสาธิต

การปลูกพืช   งานกาแฟ  พื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 4 ไร่ และได้ดำเนินการเพาะกล้าเตรียมรองรับให้เกษตรกรนำไปปลูกซ่อมแซมต้นเก่า และปลูกแปลงใหม่ เป็นการทำกาแฟอินทรีย์
งานไม้กระถาง  เพาะไม้กระถางไว้จำหน่ายภายในศูนย์ฯ เช่น บิโกเนีย กล้วยไม้ ลิปสติก หน้าวัวกระถาง มังกรคาบแก้ว ปีกผีเสื้อ และไม้กระถางอื่น ๆ
วานิลลา  ปัจจุบันทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ได้ดำเนินการปรับปรุงโรงเรือนเดิมที่มีอยู่ ให้มีขนาดกว้างขึ้น เพื่อรองรับต้นกล้าพันธุ์ที่นำมาปลูกเพื่อสาธิตและขยายพันธุ์ให้เกษตรกร ขนาดโรงเรือนที่ปรับใหม่ ขนาด 12 x 48 เมตร มีอยู่ทั้งหมด 4 ระดับ ตามสภาพพื้นที่ สามารถปลูกวานิลลาได้ทั้งหมด 350 ต้น มีอายุตั้งแต่ 1-5 ปี
เห็ดหอม  ทางศูนย์ฯ ได้ปรับเปลี่ยนจากการเพาะท่อนไม้มาเพาะเป็นถุง เนื่องจากปัญหาการหมักหมมของเชื้อราเขียว – ราดำ ที่เข้าไปทำลายท่อนเห็ด โดยได้รับงบประมาณจากงานเห็ดส่วนกลางของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อก่อสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด และนำก้อนเชื้อเห็ดหอมมาไว้ในโรงเรือนแล้ว
ไม้ผล  ภายในศูนย์ฯ ได้มีการสาธิตไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น บ๊วย ลองกอง แก้วมังกร และเสาวรส

   (ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

————————-

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ปี พ.ศ. 2522  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์  ทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง โดยทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอยในที่ดอน เส้นทางคมนาคมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต  จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง  เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน  

สถานที่ตั้ง ตำบลวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 900-1,200 เมตร อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าสนละป่าเต็งรัง
ทิศเหนือและทิศตะวันออกและทิศใต้  ติดกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ทิศตะวันตก  ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ภูมิอากาศ อุณหภูมิต่ำสุด 4  องศาเซลเซียส    อุณหภูมิสูงสุด 37  องศาเซลเซียส   อุณหภูมิเฉลี่ย  19 องศาเซลเซียส  

หมู่บ้านและประชากร ประชากร ประกอบด้วย กะเหรี่ยง  5,030 คน และคนพื้นเมือง –  คน รวม 5,030 คน คิดเป็น 884  ครัวเรือน ในพื้นที่ 2 ตำบล  19  หย่อมบ้าน นับถือศาสนา พุทธ และคริสต์ บางส่วนนับถือผี

การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่สามารถเดินทางไปยังศูนย์ฯ วัดจันทร์ ได้สองเส้นทางคือ เส้นทางเชียงใหม่ ผ่านตลาดแม่มาลัย ไปทาง อำเภอปาย  แล้วเลี้ยวซ้าย สาย ปาย-วัดจันทร์  ระยะทาง 157  กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
อีกเส้นทาง จากเมืองเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางแม่ริม แล้วต่อยังอำเภอสะเมิง  ผ่านทางอำเภอสะเมิง -วัดจันทร์  ระยะทาง 154 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง  มีรถประจำทางผ่าน

 

วัตถุประสงค์

1. ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและรายได้ให้เกษตรกร  มีพอกิน ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคเกษตร
2. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสังคม  การศึกษา  สาธารณสุข ความเข้มแข็งของชุมชน
2. เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า
2. เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ  ของบุคลากรและผู้นำชุมชน

งานทดสอบและสาธิต

การปลูกพืช  ศูนย์ฯ วัดจันทร์ได้ทำการทดสอบสาธิตเพื่อทดสอบพืชพันธุ์ใหม่ โดยเน้นความต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิต  ต้องการทราบถึงชนิดพืชและสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และฤดูกาล  เพื่อที่จะได้นำผลการทดสอบที่เหมาะสมเป็นข้อมูลนำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกร ต่อไป ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มีทั้งหมด 19 ชนิด  จำนวนพื้นที่ 16 ไร่
พืชผัก   จำนวน 11 ชนิด ได้แก่    ผักกาดหวาน  
ถั่วลันเตา ผักกาดหอมห่อ  กะหล่ำปลีรูปหัวใจ  โอ๊คลีฟแดง เรคคอลัน  แรดิชชิโอ สลัดแดง กะหล่ำปลีแดง สวีทชาร์ท  และอาร์ติโช๊ค
ไม้ผล จำนวน 8 ชนิด ได้แก่  ส้มพองกัลป์ ส้มคัมควัท   อะโวกาโด   พลับ    พลัม  บ๊วย  มะม่วงนวลคำ  และสาลี่

 

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

——————————-

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎร จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า สูงจากระดับน้ำทะเล 640 เมตร พื้นที่รับผิดชอบ 22,505 ไร่ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าเย้าและม้ง ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาและภูเขาสูง มีลำน้ำสายสำคัญ คือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน

การเดินทาง :
เส้นทางที่ 1 เดินทางจากอำเภอเมืองเชียงรายตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 ถึงอำเภอเทิง ระยะทาง 64 กิโลเมตร จากอำเภอเทิงถึงอำเภอเชียงคำ 26 กิโลเมตร ไปบ้านทุ่งหล่มใหม่ 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือถึงบ้านแฮะ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปอีก 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือถึงวนฯ 12 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 127 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 เดินทางจากจังหวัดพะเยาผ่านอำเภอปงถึงแยกทางเข้าอำเภอเชียงคำตามทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 1092 ระยะทาง 104 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่ออีก 3 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 เลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือถึงวนฯ 12 กิโลเมตร รวมระยะทาง 119 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 3 เดินทางจากอำเภอเมืองน่านถึงอำเภอท่าวังผาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข1080 ระยะทาง 43 กิโลเมตร เดินทางไปทางเหนือแล้วเลี้ยวขวาไปอำเภอสองแถวตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 ระยะทาง 33 กิโลเมตร จากอำเภอสองแถวถึงอำเภอเชียงคำแล้วเดินทางต่อไปถึงวนฯ 71 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 147 กิโลเมตร

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

—————————–

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2522 ที่หมู่บ้านปางอุ๋ง  เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ตั้งมานานกว่า 70 ปี อยู่ในเขต ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง ที่อพยพตั้งบ้านเรือนอยู่อย่างกระจัดกระจาย ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอยมานาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านปางอุ๋ง เพื่อเยี่ยมราษฏรชาวไทยภูเขา ทรงมีพระราชดำริเรื่องชลประทานและแนะนำเรื่องอาชีพปลูกพืชชนิดใหม่เป็นรายได้ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมให้มีการทำการเกษตรอย่างถาวรในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานสังคมที่ดี โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านไม้ผลเป็นลำดับแรก ต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านพืชไร่ พืชผักแปรรูป งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง มีพื้นที่ 48,068 ไร่ ครอบคลุม 9 หมู่บ้าน 16 กลุ่มบ้าน ประชากรที่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมจำนวน 1,061 ครัวเรือน 5,863 คน

สถานที่ตั้ง ตำบลแม่ศึก  อำเภอแม่แจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่

ภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่ทั่วไปเป็นภูเขาสลับ ซับซ้อน มีความลาดชันสูง กว่า 35%  มีพื้นราบบริเวณหุบเขา  สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  900-1,500  เมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย มีค่า pH ที่ 5.0-6.0

ภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยสุด -2  องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34  องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,732  มิลลิเมตรต่อปี

หมู่บ้านและประชาการ ประกอบด้วยเผ่าม้ง .3,033. คน และเผ่ากะเหรี่ยง3,276 คน รวม 6,309 คน คิดเป็น 488 ครัวเรือน ในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน 16 หย่อมบ้าน นับถือศาสนาพุทธ และคริสต์ บางส่วนนับถือผี

การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-ฮอด ผ่านอำเภอ หางดง สันป่าตอง จอมทอง แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ถึงทางแยกไปอำเภอขุนยวม ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1263 ศูนย์จะตั้งอยู่ทางขวามือ ที่บ้านปางอุ๋ง สามารถใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)

 

 

 

 

 

 

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่ลาน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ การคมนาคมลำบาก ขาดระบบสาธารณูปโภค ปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านห้วยห้อม เป็นครั้งแรก และได้พระราชทานทรัพย์แก่ราษฎรที่ขาดแคลนข้าว เพื่อจัดตั้งเป็นธนาคารข้าว ทรงรับสั่งว่าเป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก ปี พ.ศ. 2521 เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ จึงมีกระแสรับสั่งให้ส่วนราชการมาพัฒนาพื้นที่ เพื่อกำหนดแผนพัฒนาชาวเขา ปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

สถานที่ตั้ง ตำบลห้วยห้อม    อำเภอแม่ลาน้อย   จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ภูมิประเทศ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,100 เมตร  มีความลาดชันสูง เป็นป่าไม่ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์  พื้นที่ป่าทั้งหมดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ที่เป็นต้นน้ำแม่ลาน้อย  ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน

ภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 20 องศาเซลเซียส  อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 30 องศาเซลเซียส  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400  มิลลิเมตรต่อปี

หมู่บ้านและประชาการ ประชากรประกอบด้วยเผ่าละว้า 2,290 คน เผ่ากะเหรี่ยง 2,540 คน รวม 4,830 คน 820 ครัวเรือน 6 หมู่บ้าน 5 หย่อมบ้าน นับถือศาสนาพุทธ , คริสต์และผี

 

การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่  250  กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ผ่านแม่สะเรียงไปอำเภอแม่ลาน้อย  ถึง กิโลเมตรที่ 132 ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง 1266  อีก 30 กิโลเมตร  ถนนบางช่วงเป็นดินลูกลัง  ฤดูฝนการคมนาคมลำบาก

วัตถุประสงค์ เพื่ออบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม (อย่างน้อยให้มีรายได้พอกิน) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสังคม การศึกษา สาธารณสุข ความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ

 

งานทดสอบสาธิต  การปลูกพืชผักภายใต้โรงเรือนไม้ไผ่ ได้แก่ เบบี้ฮ่องเต้  งานทดสอบสาธิต กาแฟ และ พลัม
งานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ
ภาคการเกษตร งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ พืชผักภายใต้โรงเรือนไม้ไผ่ ไม้ผล กาแฟ และพืชไร่
นอกภาคการเกษตร งานสนับสนุนการทอผ้าขนแกะ งานหัตถกรรมเครื่องเงิน  งานส่งเสริมกิจกรรม การท่องเที่ยว    และงานแปรรูปผลผลิต  ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟคั่ว

 

 

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บกรมชลประทาน http://royalprojectthailand.com/)


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สามารถพูดคุยกันได้ที่ https://www.facebook.com/MyLifeMyTravels/

 

My Life My Travel