ไหว้พระ 9 วัด แห่งดินแดนล้านนา

 

.

 

.

 

.

 

 

สวัสดีคะ  วันนี้สาวนุ้ย มาชวนไปไหว้พระ 9 วัดกันค่ะ

 

 

ทริปนี้จึงกลายเป็นทริปแสวงบุญ เพื่อความเป็นศิริมงคล

 

 

เพราะช่วงที่เดินทาง พึ่งเข้าสู่ปีใหม่ ก็เลยเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการไหว้พระ 9 วัด  5 จังหวัด

 

 

มีวัดไหน จังหวัดอะไรกันบ้าง  ……

 

 

1. วัดพระธาตุหริภุญชัย  จังหวัดลำพูน

 

2. วัดพระธาตุลำปางหลวง  จังหวัดลำปาง

 

3. วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี  จังหวัดแพร่

 

4. วัดพระธาตุช่อแฮ  จังหวัดแพร่
5. วัดพระธาตุเขาน้อย  จังหวัดน่าน
6. วัดพระธาตุแช่แห้ง  จังหวัดน่าน
7. วัดพระธาตุศรีจองทอง  จังหวัดเชียงใหม่
8. วัดเชียงมั่น  จังหวัดเชียงใหม่
9. วัดโลกโมฬี  จังหวัดเชียงใหม่

 

 

ทริปนี้นุ้ยเลือกลองของใหม่คะ  เดินทางด้วยสายการบินน้องใหม่  Thai lion air (ก็ราคามันถูก ลองหน่อยไม่เสียหาย)

 

 

เครื่องใหม่กิ๊ก   ที่ชอบอีกอย่างตรงโหลดกระเป๋าฟรีคะ  ไม่ต้องหอบไม่ต้องขน ไม่ต้องจ่ายแพง

 

 

ใช้เวลาไม่นาน ก็มาถึงปลายทาง สนามบินเชียงใหม่ (หลับตลอดทาง ไม่ได้รู้เลยว่ากัปตันขับดีหรือเปล่า ตกหลุมอากาศบ้างไหม)

 

 

 

นุ้ยใช้เวลาสำหรับทริปนี้ 5 วัน 4 คืน   เดินทางวันที่ 9 – 13 มกราคม 2557

 

แผนการเดินของนุ้ย เริ่มจากเชียงใหม่คะ  โดยจุดหมายปลายทางอยู่ที่อำเภอปัวจังหวัดน่าน เพราะไปบริจาค

 

 

นุ้ยจึงแวะเที่ยว แวะสักการะ ไหว้พระในทุกๆ จังหวัดที่ขับรถผ่าน  ตามแผนที่เลยคะ

 

 

 

และจุดหมายแรกของนุ้ยคือ กราบสักการะพระธาตุหริภุญชัย ที่จังหวัดลำพูน

 

ใช้เวลาเดินทางจากเชียงใหม่โดยประมาณ ครึ่งชั่วโมง

 

เมื่อมาถึงบริเวณด้านหน้าวัดจะมีลานจอดรถกว้างขวางพอสมควรเลย สะดวกสำหรับคนที่นำรถมา

 

 

ก่อนเข้าวัดเราจะผ่านซุ้มประตู หน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่ง ยืนเป็นสง่า

 

 

วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี  ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ภายในวัดเป็นลานกว้าง

 

 

พระบรมธาตุหริภุญไชย เป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิด ปีระกา เป็นเจดีย์แบบล้านนาไทยแท้ๆ ที่ลงตัวสวยงาม ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ

 

 

 

ทางจังหวัดลำพูนได้จัดให้มีงานนมัสการประจำปีขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ซึ่งก็คือวันวิสาขบูชา  (งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย น้ำที่สรงนำมาจากบ่อน้ำทิพย์บน ยอดดอยขะมัอ)

 

      คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)

 

 

        สุวัณณะเจติยัง หะริ ภุญชะยัฎฐัง

 

        วะระโมลีธารัง อุรัฎฐิ เสฎฐัง

 

        สะหาอังคุลิฎฐิง

 

        กัจจายะเน นะ ฐิตะปัตตัปปะการัง
        สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิธาตุง

 

 

 

เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า “วิหารหลวง”

 

หอระฆังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่

 

 

 

เมื่อกราบสักการะองค์พระธาตุเสร็จแล้ว  เดินมาด้านหน้าวัดเพื่อกราบ พระพุทธไสยาสต์บรมธาตุอุปนันท์

 

ต้นโพธิ์ใหญ่คอยให้ร่มเงา บริเวณหน้าวัด

 

 

 

เดินออกมาด้านหน้าวัด… เห็น ขัวมุงท่าสิงห์  ลองเข้าไปเดินดูกันดีกว่าคะ มีอะไรขายบ้าง

 

ขนมเพียบ

 

 

สินค้าขาย สองข้างทาง

 

 

แอบตกใจราคานิดนึง ผ้าชิ้นนึง 7 พันกว่าบาท แต่คุณป้าคนขายบอกผ้าไหมแท้ แต่นุ้ยก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดีละ

 

 

 

และนี่เลยห้ามพลาด  เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ

 

อ่านป้ายร้านไปก็ขำไป  คิดในใจ ชั่งกล้า

 

 

แต่พอได้ลอง  ขอบอกว่าอร่อยค่ะ  รสชาดกำลังดีไม่หวานจนเกินไป

 

และมีกลิ่นหอมของน้ำเชื่อม เตะจมูกนิด

 

 

สำหรับนุ้ย  อร่อยคะ

 

 

 

และแล้ว  ก็ได้เดินทางมาถึงวัดที่ 2 ของทริปแล้วคะ

 

วัดพระธาตุลำปางหลวง

 

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

 

 

ทางเดินขึ้น บันไดหลายขั้นเลยทีเดียวคะ

 

 

ทางขึ้นนี้เรียกว่า ประตูโขง เป็นฝีมือช่างหลวงโบราณ และยังใช้ประตูโขงแห่งนี้ใช้เป็นสัญลักษณ์เมืองลำปางในตราจังหวัดลำปาง

 

 

เมื่อผ่านประตูโขงไป เราจะได้เจอกับวิหารหลวง

 

 

ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก ภายในวิหารบรรจุมณฑปพระเจ้าล้านทอง

 

 

 

พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของ คนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู

 

ตามตำนาน  กล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

 

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)

 

        ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง

 

        ปะติฎฐาสัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ

 

        คุตตา อุตตะราภิทัยยา นะมามิหันตัง
        วะระชินะธาตุง ฐะเปติ มะหา ฐาเน
        เจติยัง ปูชิตา นะเะเทเวหิ
        อะหัง วันทามิ ธาตุโย

 

 

 

ภายในวัด ยังมีสถานที่สำคัญอีกมาก

 

อย่างเช่น ซุ้มพระบาท

 

สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ภายในมองเห็นแสงหักเห ปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ

 

แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นนะคะ

 

 

วิหารน้ำแต้ม

 

หรือวิหารภาพเขียนสี (“แต้ม” แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลัง หนึ่งทางภาคเหนือ

 

 

 

มาถึงวัดที่ 3  กันแล้วคะ  วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี

 

วัดนี้เป็นวัดที่นุ้ยไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย  แต่เนื่องจากก่อนออกเดินทาง พยายามหาข้อมูลว่า เส้นทางที่ขับรถผ่านมีวัดไหนบ้าง จะได้ครบ 9 วัด

 

แล้วปรากฎว่า เจอชื่อวัดนี้  แต่ก็ยังไม่ได้ตั้งใจจะแวะ  เพราะกลัวจะเข้ารถเข้าน่านไม่ทัน กลัวจะมืดซะก่อน

 

 

แต่ปรากฎว่า เมื่อขับรถผ่านมาตามเส้นทาง แฟนขับรถผ่านไป  ….. แต่นุ้ยกลับมีความรู้สึกว่าต้องแวะ ยังไงก็ต้องแวะ จึงเลี้ยวรถกลับมา

 

 

วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี

 

 

ตั้งอยู่บนถนนสายแพร่-ลำปาง  อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

 

 

เป็นที่สะดุดตา ด้วยพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ประทับนอนปางไสยาสต์ เป็นพระพุทธศิลป์ชาวพม่า

 

 

สิงห์คู่เชิงราวบันไดพญานาค ซึ่งเป็นทางเดินขึ้นสู่พระธาตุบารมี ๓๐ ทัศ และพระอุโบสถ

 

 

บริเวณนี้เป็นลานโล่งกว้างจอดรถได้จำนวนมาก

 

 

 

ซุ้มประตู  มียักษ์อยู่ 2 ตน

 

ก้าวผ่านซุ้มประตูระเบียงคตเข้ามาจะมีพื้นที่พอประมาณสำหรับ  สักการะบูชาพระธาตุบารมี ๓๐ ทัศ โดยมีคำบูชาพระธาตุติดไว้ให้

 

 

พระธาตุบารมี ๓๐ ทัศ

 

 

จุดเด่นคือเป็นวัดที่รวบรวมศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังระเบียงคตเป็นเรื่องราวของชาดกพื้นบ้านและภาพพุทธประวัติ

 

 

 

อุโบสถสร้างแบบล้านนา

 

ด้านหน้า มีปูนปั้นยักษ์หลับและยักษ์ตื่นเฝ้าด้านหน้า นอกจากนี้วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรียังมีประติมากรรมรูปยักษ์ ประกอบด้วยทศกัณฐ์ สหัสเดชะและอสูร และมีเทวดา รายล้อมรอบอุโบสถ

 

 

จุดเด่น คือ เป็นวัดที่รวบรวมศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังระเบียงคตเป็นเรื่องราวของชาดกพื้นบ้านและภาพพุทธประวัติ ในบริเวณวัดมีเจดีย์ทรงล้านนากว่า 30 องค์ ด้านหน้าบันไดทางขึ้นทิศตะวันออกมีรูปปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ มีอาคารพิพิธภัณฑ์ไม้สักทรงล้านนา ที่เก็บรวบรวมเรื่องราวของล้านนาและเมืองแพร่ จัดแสดงเครื่องใช้ อาวุธของนักรบโบราณ รวมทั้งภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายเหนือและภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในล้านนา

 

 

วัดที่ 4 แล้วจ้า  ยังอยู่ในจังหวัดแพร่

 

วัดพระธาตุช่อแฮ

 

 

มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่  เพราะฉะนั้นห้ามพลาดเลยคะ

 

 

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง  เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล

 

องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง  ตกแต่งด้วยเครื่อง บนแบบล้านนา มีรั้วเหล็ก รอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม

 

 

       คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)

 

        โกเสยยะ ธะชัคคะ

 

        ปัพพะเต สัตตะมะโนรัมเม

 

        พุทธะ เกสาธาตุ ปะติฎฐิตา
        อะหัง วันทามิ สัพพะทา
        อะหัง วันทามิ ธาตุโย
        อะหัง วันทามิสัพพะโส

 

 

พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย

 

 

ทุกปีจะมีประเพณีการไหว้พระธาตุช่อแฮเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

 

เดิมจะจัด 5 วัน 5 คืน ได้เปลี่ยนแปลงเป็น 7 วัน 7 คืน วันแรกของงาน จะเริ่มขึ้นในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6เหนือ เดือน 4 ไต้ของทุกปีซึ่งถือว่าการจัดงานไหว้พระธาตุช่อแฮ ยึดถือตาม จันทรคติเป็นหลัก

 

 

 

พระพุทธโลกนารถบพิตร   เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก

 

วิหารศิลปะล้านนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม

 

 

หลักจากกราบสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว

 

นุ้ยก็รีบตรงดิ่งเข้าสู่น่านทันที  ค่ำคืนที่ 2 นอนพักที่ น่านสบายดี  ราคา 450 บาท เดินทางสะดวก  อยู่ใกล้ บขส. ด้วย เก็บไว้พิจารณาเป็นทางเลือกได้เลย  แต่ไม่ได้เก็บรูปมาฝากกัน เพราะกว่าจะถึง น่านก็มืดค่ำซะแล้ว

 

 

รีบเข้านอนกันแต่หัววันเลยทีเดียว เพราะเช้าวันถัดไป นัดแนะกันไว้ว่าจะไปกราบสักการะพระธาตุเขาน้อย  พร้อมไปถ่ายรูปแสงทไวไลน์กัน

 

 

ปรากฎว่าไม่ได้รู้เลยว่าวัดเปิดปิดกี่โมง ปรากฎไปถึง วัดยังไม่เปิดประตู เลยได้รูปนี้มาฝากกันระหว่างรอ

 

 

 

วัดที่ 5

 

วัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดราษฎร์

 

 

ทางรถขึ้นถึงตัววัด

 

จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน

 

 

ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร

 

 

พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน  เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

 

 

วันที่นุ้ยไปหมอกค่อนข้างลงหนา  ไม่สามารถมองเห็นวิวเมืองน่านได้ แต่ก็ได้เห็นทะเละหมอก สวยๆ

 

 

 

องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย  เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้า  หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค303 ขั้น

 

หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค303 ขั้น  ทางรถขึ้นถึงตัววัด

 

 

หลังจากวันพระธาตุเขาน้อย  ก็มุ่งสู่วัดที่ 6 กันเลยคะ  ช่วงเช้าของวันนั้น ต้องทำเวลาพอสมควรเลยเพราะเป็นวันที่ต้องไปบริจาคอุปกรณ์การเรียนให้น้อง

 

วัดที่  6 วัดพระธาตุแช่แห้ง

 

 

พระบรมธาตุแช่แห้ง พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน วัดพระบรมธาตุแช่แห้งตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ตำบล ม่วงตึ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

 

 

สันนิษฐานว่ามี อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจาก กรุงสุโขทัย

 

 

ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ซึ่งจะอยู่ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

 

 

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ)

 

        ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง

 

        ปะติฎฐิตา นันทะกัปปะเก

 

        ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุง
        จิรัง วันทามิหันตัง ชินะธาตุโย
        โส ตะถาคะตัง
        อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต

 

 

สถาปัตยกรรมด้านโบสถ์ของวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่สำคัญและแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมสกุลช่างน่าน

 

 

 

จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

 

หลังจากถ่ายรูปกันจนพอใจ  มาถึงอำเภอจอมทองทั้งที่

 

สิ่งที่จะพลาดไม่ได้อีกอย่าง นั่นคือแวะกราบสักการะองค์พระธาตุศรีจอมทองนั่นเอง  และนั้นก็เป็นวันที่ 7 ของทริปนี้คะ

 

 

วัดที่ 7 พระธาตุศรีจอมทอง

 

 

ตั้งอยู่ ตำบลบ้านหลวงอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่เป็นพระธาตุประจำปีชวด

 

 

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

 

 

สิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยจอมทองอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวา ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่น คือเป็นพระบรมธาตุที่มิได้ฝังใต้ดินแต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ภายในพระวิหารสามารถอันเชิญ มาสรงน้ำได้

 

 

 

พระบรมธาตุแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้ และ ทรงพยากรณ์ว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมธาตุของพระองในภายหน้า ต่อมาราวปี พ.ศ.1995 นางเม็ง และ นานสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้าง เสนาสนะที่ดอยดินทอง จึงได้ชื่อว่า วัดจอมทอง ต่อมาพระเมืองแก้วกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์มังรายได้สร้าง พระวิหารขึ้นมา

 

พระธาตุจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุ ส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มีขนาดโตประมาณ เมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง

 

 

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)

 

        นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี

 

        โลหะกูเฎ ปะติฎฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ

 

        กิตติมันตัง มะโนหะ รัง อะหัง วันทามิ
        อสัพพะทา อัง คะวะเย ปุเรรัมเมิโกวิลา
        รัคคะปัพ พะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ
        ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะทา

 

 

 

วัดที่ 8 วัดเชียงมั่น

 

วัดเชียงมั่น พุทธศาสนสถานอีกหนึ่งแห่ง ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง วัดที่เก่าแก่ที่ สุดในตัวเมืองเชียงใหม่และถือเป็นวัดแห่งแรกในเขตกำแพงเมือง

 

 

เมื่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1839 พระองค์ทรงยกพระตําหนักที่ประทับชื่อ ตําหนักเชียงมั่นถวายเป็นพระอารามใหม่ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสําคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่

 

 

นอกจากวัดเชียงมั่นจะมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ เมืองเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่น ๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่น ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ วัดเชียงมั่นเป็นสถานที่รวบรวมโบราณ วัตถุ จำนวนมาก ซึ่งอาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุของวัดเชียงมั่นประกอบไปด้วย วัดเชียงมั่นมี สถาปัตยกรรม สําคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช่างล้อม พระอุโบสถและหอไตร

 

 

 

เจดีย์ช้างล้อม

 

เป็นเจดีย์รูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนาฐานช้างล้อม

 

 

องค์เจดีย์ผสมสี่เหลี่ยมและทรงกลมเปิดทองจังโก สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1840ครั้งพญามังรายสถาปนาวัดเชียงมั่น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากผู้ครองนคเชียงใหม่สืบมา กรมศลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเมื่อ พ.ศ. 2478

 

 

 

และวัดสุดท้ายของทริปนี้คือ  วัดโลกโมฬี

 

วัดที่ 9  วัดโลกโมฬี

 

 

วัดโลกโมฬี หรือวัดโลก ตั้งอยู่ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่

 

 

เป็นวัดประจำรัชกาลพระเมืองเกษเกล้า

 

 

 

เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ อายุกว่าห้าร้อยปี สร้างในสมัยอาณาจักรล้านนา

 

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๐ โดยพระเกษเกล้าโปรดให้ยกบ้านหัวเวียงให้เป็นวัด จากนั้นได้สร้างเจดีย์ และวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๐๗๑ เมื่อพระเกษเกล้า ฯ สวรรคตได้นำอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดนี้ด้วย วัดโลกโมฬีได้กลายเป็นวัดร้างมาหลายร้อยปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2544 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการรื้อฟื้นจากการเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ได้ดำเนินการพัฒนาบูรณะวัดโลกโมฬี จนกระทั่งวันที่ 9 ตุลาคม 2544 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้ยกฐานะจากวัดร้าง มาเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

ปัจจุบัน วัดโลกโมฬีเป็นศูนย์กลางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยมีการจัดกิจกรรมขึ้นในเทศกาลต่างๆ

 

 

สิ่งสำคัญภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ทรงปราสาท สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๑ มีประติมากรรมรูปเทวดาที่ประดับตามมุมของเจดีย์ วิหารหลวง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลังการบูรณะวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา มีความงดงามและปราณีต

 

 

 

…ทริปนี้ ได้จบลง แบบอิ่มบุญ อิ่มใจ มีความสุข…

 

ทิ้งท้ายรีวิว ไว้ด้วยรูปสุดท้ายของทริปนี้นะคะ

 

 

ขอบคุณทุกความเห็น ทุกคำชม ทุกไลค์ ทุกโหวต และทุกกำลังใจ

 

 

อีกไม่นานเจอกันใหม่ กับรีวิว…………………( ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ว่าจะรีวิวที่ไหนก่อนดี )

 

My Life My Travel